21 February 2011

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต่างจากสถานีอนามัยอย่างไร?


คนกรุงเทพอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า"สถานีอนามัย"เท่าไหร่ เพราะเวลาไม่สบายก็มักจะไปหาหมอที่คลีนิคเอกชนหรือโรงพยาบาล แต่สำหรับคนต่างจังหวัด สถานีอนามัยที่มีอยู่ประจำตำบลมีบทบาทสำคัญ ในการให้การรักษาเบื้องต้นแก่ชาวบ้านในละแวกนั้น
แต่ตอนนี้ถ้าใครผ่านไปที่สถานีอนามัย อาจจะแปลกใจที่เห็นป้ายใหม่เขียนว่า "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล" ผมเองก็สงสัยว่า ทำไมสถานีอนามัยถึงเปลี่ยนไปเป็นโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แล้วมันเป็นโรงพยาบาลจริงๆ เหรอ?
ดูจากชื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ก็รู้สึกว่าเป็นโรงพยาบาลที่ชื่อยาวนะครับ แล้วทำไมต้องมีส่งเสริมสุขภาพด้วย ไม่เห็นเหมือนกับชื่อโรงพยาบาลทั่วๆไปเลย ติดตามจากข่าวก็ได้ยินการพูดถึงโรงพยาบาลชื่อนี้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบ่อยๆ

ผมลองค้นหาข้อมูลดูก็พบว่า เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการยกระดับสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาล โดยมีแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมากกว่าให้การรักษาเพียงอย่างเดียว หรือพูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่า เน้นสร้างมากกว่าซ่อม

ฟังดูแล้วก็เป็นแนวความคิดที่ดีนะครับ ถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี โดยมีโรงพยาบาลที่พัฒนามาจากสถานีอนามัยเดิมเป็นผู้นำในการให้ความรู้ คำแนะนำ มีอุปกรณ์ สถานที่สำหรับการออกกำลังกาย กายภาพบำบัด มีการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนแต่ละครอบครัวว่า สมาชิกในบ้านแต่ละคนอยู่ในวัยใด ต้องดูแล ส่งเสริม รักษาสุขภาพอย่างไรบ้าง

โครงการนี้รัฐบาลใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง ในการปรับปรุงอาคาร สถานที่ เปลี่ยนป้ายชื่อ จัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือข้าราชการที่รับผิดชอบตระหนักก็คือ การสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถในการบริหาร จัดการ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลสามารถเข้าถึงประชาชน และเป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนตามแนวคิดที่ตั้งไว้

No comments:

Post a Comment