08 November 2009

การแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา

การถอนเอกอัครราชทูตไทยกลับจากกัมพูชา การทบทวนข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชา หรือที่เรียกว่าบันทึกความเข้าใจ (MOU : Memorandum of Understanding) เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย รวมทั้งล่าสุดที่มีคำพูดจากแม่ทัพภาคที่ 2 ของไทยว่า "ถ้ามีการรบเกิดขึ้น ไทยจะเป็นฝ่ายชนะ"

ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยล่าสุด ที่เกิดขึ้นหลังสมด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาแต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยืนยันจะไม่ส่งตัวกลับประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน ทางกัมพูชาก็ได้ตอบโต้โดยถอนเอกอัครราชทูตกลับ เสริมทหารกว่า 4,000 นาย เข้าประจำชายแดน และยืนยันว่า MOU ที่ได้ตกลงกันไว้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้!

ผมว่า ถ้าเหตุการณ์ความขัดแย้งยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายการปะทะกันทางทหารอาจเกิดขึ้นได้ในไม่ช้านี้! อย่าลืมนะครับว่า ความขัดแย้ง ความไม่พอใจระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ แต่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่การเผาสถานทูตไทย และกรณีพิพาทเขาพระวิหาร เพราะมีความพยายามจากบางฝ่ายที่ต้องการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังระหว่างไทยและกัมพูชา โดยสร้างประเด็นทวงคืนเขาพระวิหาร

เราต้องยอมรับว่า ศาลโลกได้ตัดสินออกมาอย่างชัดเจนแล้วในเรื่องปราสาทพระวิหาร สิ่งที่ควรทำก็คือ การสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศที่จะบริหารจัดการมรดกโลกแห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งกัมพูชาและไทย เพราะถึงแม้กัมพูชาจะเป็นเจ้าของปราสาทฯ แต่นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปชมปราสาทฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทางฝั่งไทย ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการร่วมกันอย่างมิตรประเทศ จึงเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่หากมัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน สุดท้ายก็จะไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองประเทศ

การแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังอย่าให้เกิดความรุนแรงไปมากกว่านี้เลยครับ ยังไงประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นเพื่อนบ้าน หาทางร่วมมือสร้างประโยชน์ร่วมกันดีกว่า ถึงแม้เรามั่นใจว่า ถ้ารบกันเราจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และความบาดหมางที่ยิ่งฝั่งลึกระหว่างกัน มันไม่คุ้มเลยนะครับ

No comments:

Post a Comment