22 August 2007

อนาคตการเมืองไทย อนาคตนายกฯคนต่อไป


ผ่านไปแล้วนะครับ สำหรับเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นครั้งแรกและคิดว่าคงจะเป็นครั้งเดียว ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคนเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ ตัวผมเองก็กาช่องซ้ายคือเห็นชอบ ด้วยเหตุผลที่อยากให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยใช้รัฐธรรมนูญที่เราเห็นอยู่ ซึ่งถึงแม้จะเป็นฉบับน้องพลับ (หมายเหตุ:มีความหมายตามบทความของผู้เขียนก่อนหน้านี้:) แต่ก็ยังดีกว่าใช้รัฐธรรมนูญที่คมช.หยิบฉบับไหนก็ได้ตามใจชอบมาบังคับใช้ ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นการเมืองและบ้านเมืองเราก็จะวุ่นวายไม่รู้จบ

เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เราจะได้รัฐบาลผสมที่อาจจะมีถึง 5 พรรค เช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน ประชาราช และรักชาติ เป็นต้น พรรคพลังประชาชนที่เป็นกลุ่มไทยรักไทยเดิม จะต้องถูกสกัดกั้นทุกทางไม่ให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง รัฐบาลใหม่จึงจะเป็นพรรคฝ่ายค้านเดิม + พรรคของทหาร (โดยพรรคทหารจะประกอบไปด้วยส.ส.ไทยรักไทยเดิมที่แยกตัวออกมา เป็นส่วนใหญ่ และมีนายทหาร ข้าราชการที่เกษียณอายุจำนวนหนึ่งเป็นส่วนประกอบ)

จำนวน ส.ส.ทั้งหมด 480 คน ผมคาดว่ารัฐบาลอาจมีแค่ 300 เสียง ฝ่ายค้านจะมี 180 เสียง ตัวเลขฝ่ายค้านนี้ผมคิดจากฐาน ส.ส.ไทยรักไทยเดิมที่รวมกันอยู่กับพรรคพลังประชาชน ซึ่งยังคงมีฐานเสียงเหนียวแน่นอยู่ในภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน เห็นได้จากผลการลงประชามติที่พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สีแดง อันหมายถึงการที่มีคะแนนไม่รับร่างสูงกว่ารับร่าง

ถ้าตัวเลข ส.ส.เป็นเช่นนี้ ฝ่ายค้านจะสามารถอภิปรายนายกฯได้ตลอดเวลา เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ใช้เสียงเพียงหนึ่งในห้า หรือ 96 เสียง ก็เพียงพอสำหรับการเปิดอภิปรายนายกฯ ลำพังแค่การเปิดอภิปรายนายกฯ หรือแค่พูดโจมตี กล่าวหากันไปมา ฝ่ายค้านคงจะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่มันสำคัญอยู่ที่การลงคะแนนเสียงของส.ส. ตัวเลข 300 กับ 180 อย่าคิดว่าต่างกันมากนะครับ เพราะหากฝ่ายค้านสามารถดึงส.ส.รัฐบาลมาได้แค่ 61 เสียง ฝ่ายค้านก็จะชนะโหวตทันที! (241 ต่อ 239) การดึงคะแนนมาก็ไม่ยากเหมือนในอดีต เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส.มีอิสระในการออกเสียง ไม่จำเป็นต้องฟังมติพรรค ดังนั้นหากการอภิปรายของฝ่ายค้านมีเหตุ มีผล การล้มรัฐบาลก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป

นอกจากจะต้องสู้กับฝ่ายค้านแล้ว ปัญหาที่รัฐบาลต่อไปต้องเผชิญมีมากหลายด้าน ล้วนหนักๆทั้งนั้น จะทำอย่างไรเมื่อประชาชนในชาติแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ความแตกแยกยังลามเข้าไปถึงระดับครอบครัว จากในบ้านไปถึงในรถแท็กซี่ ในห้องเรียนจนไปถึงที่ทำงาน เรียกว่าถ้ามีการคุยเรื่องการเมืองเมื่อไหร่ รับรองได้ว่าไม่นานต้องมีการทะเลาะกันแน่! (เหมือนที่บ้านผม:)

ปัญหาเศรษฐกิจ โรงงานปิดกิจการ คนงานถูกลอยแพ ต่างชาติย้ายฐานการลงทุนจากไทยไปจีน เวียดนาม แล้วรัฐบาลใหม่จะทำอย่างไร?

ไม่ว่าคุณอภิสิทธิ พล.อ.สนธิ หรือใครที่อยากจะเป็นนายกฯคนต่อไป คิดให้ดีๆนะครับ

No comments:

Post a Comment