23 August 2007

คนอเมริกาอ่านหนังสือปีละกี่บรรทัด


ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยินว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือปีละแค่ 7 บรรทัดเท่านั้น

ข้อมูลตรงนี้ผมไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะเราจะได้ยินการพูดถึงตัวเลข 7 บรรทัด แต่ไม่มีการพูดต่อว่าใครเป็นผู้สำรวจ สำรวจอย่างไร สำรวจที่ไหน สำรวจจากคนไทยกี่คน?

ผมเองไม่อยากจะเชื่อตัวเลขนี้สักเท่าไหร่ เว้นแต่จะมีที่มาของข้อมูลอย่างชัดเจน ถูกหลักวิชาในการสำรวจ ผมถึงจะเชื่อครับ
หนังสือพิมพ์บ้านเรามีมากมาย เอาแต่ฉบับหลักๆได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน คมชัดลึก ข่าวสด ที่มีจำหน่ายทั่วประเทศ คนไทยที่อ่านหนังสือพิมพ์เหล่านี้รวมกันก็หลายล้านคนแล้ว และแต่ละคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านก็คงต้องอ่านข่าวหลายสิบบรรทัดต่อฉบับ ดังนั้นในหนึ่งปีรวมๆแล้วจะอ่านหนังสือคิดเป็นหลักพันบรรทัดทีเดียว

นี่คิดเฉพาะหนังสือพิมพ์หลักๆที่คนไทยอ่านเท่านั้นนะครับ แต่ถ้ารวมพวกนิตยสารต่างๆทั้งนิตยสารบันเทิง นิตยสารผู้หญิง นิตยสารผู้ชาย นิตยสารกีฬา นิตยสารวัยรุ่น ฯลฯ ที่มีจำหน่ายเต็มแผงหนังสือ ยอดการอ่านก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกหลายพันบรรทัดต่อคนต่อปี แล้วพวกพ็อกเก็ตบุ้คต่างๆจำนวนมากในร้านหนังสืออีกล่ะ รวมๆแล้วผมคิดว่าคนไทยอ่านหนังสือต่อปีไม่น้อยเลยนะครับ

ที่กล่าวมาข้างต้นคือการอ่านหนังสือของคนทั่วไป แต่อย่าลืมว่านักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีอยู่นับล้านคนทั่วประเทศ ก็ต้องอ่านหนังสือเรียนอีกมากมายไม่รู้กี่พันกี่หมื่นบรรทัดต่อปี รวมที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดทำให้ผมเชื่อว่า คนไทยอ่านหนังสือมากกว่า 7 บรรทัดต่อปีแน่นอน

แล้วท่านผู้อ่านอยากรู้ไหมครับว่าคนอเมริกาอ่านหนังสือคนละกี่บรรทัดต่อปี จากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ผมพึ่งได้อ่านเจอวันนี้ มีการสำรวจอัตราการอ่านหนังสือของคนอเมริกา ซึ่งพบว่า คนอเมริกาอ่านหนังสือปีละ 7 เล่ม (ไม่รู้ว่าเล่มละหนาเท่าไหร่ จะเป็น 7 เล่มของ Harry Potter หรือปล่าวนะ:)

โดยสรุปแล้วไม่ว่าคนไทยจะอ่านกี่บรรทัด หรือคนอเมริกาจะอ่านกี่เล่ม ผมคิดว่าตัวเลขการอ่านหนังสือของประชาชนเป็นตัวเลขสำคัญที่สามารถบ่งบอกได้ว่า ประเทศนั้นๆจะเจริญก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าคนในชาติมีนิสัยรักการอ่าน อ่านหนังสือมาก ก็จะทำให้มีความรู้ และสามารถนำความรู้ไปพัฒนาชาติได้ต่อไป

ถ้าการเลือกตั้งในปลายปีนี้ พรรคการเมืองไหนมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน เอาหนึ่งคะแนนเสียงของผมไปเลยครับ สาธุ (ขอให้มีสักพรรคเถอะนะ!)

No comments:

Post a Comment