11 August 2009

ศรีบูรพา กับแนวคิดประชาธิปไตย

ภาพจาก wikipedia

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นชื่อที่ผมได้ยินจากสื่อต่างๆ มานานแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดความเป็นมาของบุคคลท่านนี้ เข้าใจแต่เพียงว่าเป็นนักเขียนเก่าที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้แต่งนวนิยายโด่งดังเรื่อง "ข้างหลังภาพ"

แต่ 2 - 3 วันมานี้ ผมค้นกองหนังสือที่บ้านเจอหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ที่มีคนให้มาตั้งนานแล้วแต่ยังไม่ได้อ่านสักที หนังสือชื่อ"บทบาทของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับวิถีประชาธิปไตย" ซึ่งเขียนโดยคุณประภัสสร เสวิกุล ก็เลยลองพลิกอ่านดูว่ามีอะไรน่าสนใจหรือปล่าว... อาจเป็นเพราะตอนนี้การเมืองกำลังเป็นปัญหาร้อนแรง ที่ไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร การได้อ่านหนังสือที่เนื้อหาย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นกำเนิดประชาธิปไตยปี พ.ศ. 2475 ก็ทำให้ได้แง่คิดบางอย่าง ไม่น่าเชื่อว่าถึงเวลาหมุนผ่านนานกว่า 77 ปี คำกล่าวต่อไปนี้ยังทันสมัยอยู่ในปัจจุบัน

"ความสนใจของพลเมืองต่อกิจการบ้านเมืองซึ่งแสดงออกมาโดยประกอบด้วยภูมิความรู้และวิจารณญานเท่านั้น ที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย และที่เราสามารถเรียกประเทศของเราว่าเป็นประชาธิปไตยได้จริงๆ ในวันข้างหน้า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งแรกแต่มิใช่สิ่งสุดท้ายที่ทำให้ประเทศของเราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ" (จากบทความ มนุษยภาพ)

คุณกุหลาบเริ่มเขียนหนังสือและทำหนังสือโดยใช้พิมพ์ดีดตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยติดหนังสือไว้ที่ผนังห้องเรียนให้นักเรียนคนอื่นได้อ่าน และเริ่มใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" ในการเขียนบทประพันธ์ลงหนังสือพิมพ์ต่างๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์รายปักษ์สุภาพบุรุษ หลังจากนั้นได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง และหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2474 ได้ลงบทความเรื่อง "มนุษยภาพ" ที่เสนอแนวคิดเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นไม่พอใจจนเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของหนังสือพิมพ์ กุหลาบและคณะจึงลาออกจากหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ต่อมาได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ และเมื่อมาทำหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ก็ได้เขียนบทความมนุษยภาพต่อจากที่เคยลงในไทยใหม่ ทำให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 กุหลาบจึงได้มาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2476 กุหลาบได้เขียนตำหนิและคัดค้านการใช้อำนาจสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร์ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนพระยามโนปกรณ์ฯ ยอมรับผิด แต่หนังสือพิมพ์ประชาชาติก็ถูกสั่งปิด วันรุ่งขึ้นพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจการปกครอง หนังสือพิมพ์ประชาชาติจึงพิมพ์จำหน่ายได้ตามปกติ

จากประวัติการต่อสู้เพื่อแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ข้างต้น น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี คำกล่าวของท่านจากบทความมนุษยภาพก็เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนที่รักระบอบประชาธิปไตยควรนำไปปฏิบัติ เพราะหากคนในสังคมสนใจการเมืองโดยใช้วิจารณญานพิจารณา ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ประเทศไทยย่อมจะผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างแน่นอนครับ

No comments:

Post a Comment