02 October 2007

Naypyidaw


เหตุการณ์ประท้วงโดยพระและนักศึกษาในประเทศพม่า ดูจะเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก มีการประท้วงหน้าสถานทูตพม่าในหลายประเทศ ทางสหประชาชาติก็ได้ส่งทูตพิเศษ(ที่ผมเองมองว่าไม่มีอะไรพิเศษ) เข้าไปเจรจากับผู้นำทหารพม่า ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในดินแดนลุ่มแม่น้ำอิระวดีได้หรือไม่ ไม่อาจมีใครหยั่งรู้

ในปี 2005 วันที่ 11 เดือน 11 ทหารพม่า 11 กองพล และรัฐมนตรี 11 คน ได้ย้ายออกจากเมืองหลวง Yangon ขึ้นเหนือไปยังเมืองใหม่ Naypyidaw ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในใจกลางประเทศ ตอนนี้ถ้าท่านผู้อ่านเกิดจับพลัดจับพลูได้เข้าไปเล่นเกมส์อัจฉริยะข้ามคืน แฟนพันธุ์แท้พม่า หรือแม้แต่ตู้ซ่อนเงิน ถ้าพิธีกรถามว่าเมืองหลวงของพม่าคือเมืองใด ก็อย่าไปตอบตามความเคยชินว่า ย่างกุ้ง นะครับ ต้องตอบ เนปิดอร์

การย้ายเมืองหลวงเข้าไปในใจกลางประเทศ รัฐบาลทหารพม่าให้เหตุผลว่าเมืองย่างกุ้งมีความแออัด ไม่สามารถขยายตัวได้อีก ผมเชื่อว่านั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่สาเหตุสำคัญน่าจะเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะการมีเมืองหลวงอยู่ใจกลางประเทศทำให้ศัตรูที่รุกรานมาทางทะเล ไม่สามารถบุกประชิดเมืองหลวงได้ รัฐบาลทหารพม่านั้นสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยในประเทศมาได้หลายสิบปี ภัยคุกคามหากจะพึงมีก็ไม่พ้นภัยจากภายนอกเป็นสำคัญ

น่าเห็นใจพระ ศึกษา และประชาชน ที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ผมไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเกิดขึ้นด้วยการประท้วง หรือจากการกดดัน บอยคอตจากนานาประเทศ ก็รัฐบาลพม่าเขาเจอจนชินแล้วครับ และก็ผ่านมาได้โดยตลอด ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย และที่สำคัญพม่าเขามีพี่ใหญ่คือ จีน อินเดีย รวมทั้งเพื่อนรักคือไทย แอบให้กำลังใจอยู่เงียบๆนะครับ จะบอกให้

พี่จีน พี่อินเดีย และเพื่อนไทย ทั้ง 3 เป็นเพื่อนบ้านที่รักพม่ามั่กมั่ก เพราะพม่าตอบแทนความรักด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้ ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่ง โดยเฉพาะจีนและอินเดีย หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Chindia กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อยกระดับเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจขาดได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและทรงพลัง นอกจากนี้จีนยังสามารถใช้พม่าเป็นทางออกทางทะเลสู่มหาสมุทรอินเดียได้โดยตรง และอินเดียสามารถใช้พม่าเป็นทางผ่านเพื่อส่งสินค้าไปขายยังประเทศจีนได้อีกด้วย

ในประวัติศาสตร์ชาติพม่า ผู้นำที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะปกครองประเทศให้สงบสุขและเจริญรุ่งเรื่องได้ ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าบุเรงนองหรือผู้ชนะสิบทิศ ที่สามารถรวบรวมพม่าเป็นปึกแผ่น และขยายอาณาจักรไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้นหากพม่าได้ผู้นำที่ไม่เข้มแข็งเด็ดขาดประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ไม่สามารถรวมกันอยู่ได้เหมือนในปัจจุบัน หากระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่าได้จริง ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีก็ไม่พ้นต้องเป็นทหารอยู่ดี กองทัพย่อมมีอำนาจและอิทธิพลอย่างสูง สามารถปฏิวัติรัฐประหารได้ทุกเมื่อ มันก็คงไม่ต่างจากประเทศไทยในยุคประชาธิปไตยช่วงแรกๆ ที่นายกฯเป็นทหาร อำนาจก็อยู่กับกองทัพไม่ใช่ประชาชน

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ผมเชื่อว่ารัฐบาลทหารพม่าจะได้ปกครองประเทศต่อไป ส่วนประชาธิปไตย และนางอองซานซูจี ก็คงต้องรอต่อไปครับ

1 comment:

  1. Anonymous2/2/09 22:47

    This comment has been removed by a blog administrator.

    ReplyDelete